วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Teach Less Learn more

                   
วันนี้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ "ครูไทยดอทคอม" พบบทความหนึ่ง ได้อ่านแล้วน่าสนใจมากที่สำคัญน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ สมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์วิชาชีพครูทุกท่าน ลองอ่านซักนิดนะคะ

น่าสนใจชวนให้คิดเป็นอย่างยิ่งสำหรับ  คุณครูอย่างพวกเรา




         การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เป็นความหวังของอนาคตประเทศไทย ยุคไทยก้าวเข้าสู่อาเซียน AEC อยากเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนว่า การออกแบบปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา     ก็เสมือนการสร้างบ้าน การสร้างบ้านจะให้มีความมั่นคงแข็งแรงสวยงามเพียงใดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสองส่วนคือ หนึ่ง แบบรูปรายการหรือพิมพ์เขียว (Blue Print) และสองช่างก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญแบบรูปรายการจะเป็นเค้าโครงที่บ่งบอกถึงรูปโครงสร้างหน้าตาของอาคาร อยากให้เป็นทรงสเปน ทรงอิตาลี ทรงไทย หรือทรงโมเดิร์น อย่างไรก็อยู่ที่ผู้เขียนแบบจะกำหนดอยากให้มีห้องเล็ก มีห้องใหญ่ มีห้องใต้ดินก็จะอยู่ที่ผู้เขียนแบบ ส่วนจะให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง สวยงามอย่างไรอยู่ที่ฝีมือช่างก่อสร้าง
      หลักสูตรใหม่กระทรวงศึกษาฯกำลังออกแบบอยู่ขณะนี้ก็เปรียบเสมือนกำลังออกแบบพิมพ์เขียว (Blue Print) หลักสูตรทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อคือ ลดเวลาเรียนในห้องลงจากปีละ 1,000-1,200 เหลือ 600-800 ชั่วโมง จัดกลุ่มสาระวิชาออกเป็น 6 กลุ่มสาระวิชาลดลงจากเดิมที่มี 8 สาระวิชา ในระดับชั้นประถมศึกษาจะเรียนวันละ 5 คาบ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาเรียนวันละ 6 คาบ โดยจะจัดให้มีการเรียนนอกห้องเรียนปีละ 400 ชั่วโมง
          เห็นหน้าตาพิมพ์เขียวหลักสูตรที่ออกมาแล้วรู้สึกว่าเป็นอย่างไรครับ ดูแบบพิมพ์เขียวก่อนที่จะนำไปก่อสร้างในปีการศึกษาหน้าการจัดการเรียนนอกห้องเรียนปีละ 400 ชั่วโมง จะจัดการเรียนอย่างไรเพื่อให้เด็กได้ฝึกฝนตนเองกิจกรรมหลายอย่างทางโรงเรียนจัดไว้ให้ จัดเป็นชุมนุมกิจกรรมต่างๆ (Club) เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ อาสาพัฒนา หรืออาจเป็นกิจกรรมนอกโรงเรียน เช่น สมัครเป็นสมาชิกชมรมนักฟุตบอลของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งในต่างประเทศมีชมรมภายนอกโรงเรียนมากมาย ส่วนในเมืองไทยยังไม่ชัดเจน เวลาส่วนนี้ 400 ชั่วโมง กระทรวงศึกษาธิการจะออกแบบให้สถานศึกษาบริหารอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ มีตัวอย่างให้ดูในหลายประเทศ

          สอนให้น้อย เรียนให้มาก (Teach Less Learn more) ในประเทศสิงคโปร์ที่ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลกใช้วิธีการเรียนการสอนเช่นนี้ คือครูจะสอนเด็กไม่ใช้เวลามาก แต่จะให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ได้สร้างทักษะ สร้างความชำนาญการเรียนรู้และแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง ในประเทศเยอรมนี เด็กนักเรียนจะเรียนในภาคเช้าเต็ม เรียนภาคบ่าย 1-2 ชั่วโมง ถึงบ่ายสองโมง หลังจากนั้นเด็กจะกลับบ้าน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เขาสนใจ ชมรมต่างๆ เข้าคลับ (Club) แม้เด็กเขาจะเรียนในห้องน้อย แต่เขาเรียนหนักกว่าเด็กไทย ครูเขาจะพูดน้อย แต่เด็กเขาจะเรียนมาก ครูเขาจะให้เด็กได้ฝึก ได้ทำกิจกรรมมาก

ส่วนเด็กไทยที่ผ่านมาจะเรียนมาก ทำกิจกรรมน้อย เปรียบเสมือนเราใช้เวลาเรียนปั่นจักรยาน หรือเรียนว่ายน้ำอยู่ในห้องเรียนมากเกินไป แต่ไม่ได้ลงไปฝึกในสนามหรือไม่ได้ลงไปสระว่ายน้ำ การศึกษาไทยจึงคุณภาพลดลงโดยลำดับ

       หลักสูตรและครูผู้สอนจึงมีความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด เสมือนคนเขียนพิมพ์เขียวกับช่างก่อสร้าง ช่างก่อสร้างก็เหมือนครู สามารถพัฒนา สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะโดยทักษะ พื้นฐานเขาเป็นช่างโดยอาชีพอยู่แล้ว แม้ว่าจะมี

นวัตกรรมใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเขาก็สามารถใช้วัสดุเหล่านั้นก่อสร้างได้ ครูก็สามารถพัฒนาวิธีสอนของตนเองได้เร็วเช่นกัน ขอเพียงผู้ออกแบบเขียนแบบได้ชี้แจงให้เข้าใจก่อน ใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม บ้านหลังใหม่ก็จะเกิดขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียนแบบ
      

 ถ้าได้ช่างเก่งๆ ได้ครูเก่ง สิ่งก่อสร้างที่ออกมาก็อาจได้คุณภาพตามแบบที่กำหนดถึง 100 เปอร์เซ็นต์
สร้างบ้านตามแบบพิมพ์เขียวเสร็จแล้ว สอนเด็กให้เรียนตามหลักสูตรใหม่จบแล้ว ไม่ทราบว่าจะถูกใจเจ้าของบ้านจะถูกใจผู้เข้าอยู่อาศัย จะพอใจผู้นำผลผลิตไปใช้หรือเปล่า บางครั้งสร้างเสร็จก็จะได้คำตอบทันที แต่บางครั้งต้องใช้เวลาหลายปี หลักสูตรใหม่ก็เช่นกัน การทดลองสร้าง การทดลองใช้ การ (Try Out) จึงมีความจำเป็น เคยจำได้ไหมครับ บ้านทรงสเปนเคยเป็นที่นิยม เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เดี๋ยวนี้บ้านทรงนั้น อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว ไม่เหมาะกับอากาศเมืองไทย

    

 สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการคือ ระดับประถมศึกษา ป.1-ป.6 ขอให้ลูกอ่านออก เขียนได้ คิดเลขคล่อง เข้ากับเพื่อนได้ มีนิสัยดีใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีแสวงหาความรู้ ได้มีวัฒนธรรมของรักความเป็นไทยเท่านั้นเอง ส่วนในมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-ม.3 เป็นช่วงวัยเด็กที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น โดยธรรมชาติ เด็กต้องการมีสมบัติส่วนตัวที่สามารถผลิตได้ด้วยตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้บางส่วน
ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ในทักษะการผลิตเบื้องต้น เช่น เรียนรู้งานไม้ ลานปูน งานไฟฟ้า งานเกษตร อยากเป็นนักแสวงหา
วิชาช่างพื้นฐานเด็กควรได้เรียนรู้และได้ฝึกปฏิบัติในระดับนี้ ส่วนในระดับ ม.ปลาย คือชั้น ม.4-ม.6 เด็กควรจะได้เลือกแล้วว่าตนเองจะเรียนในสายวิชาชีพ หรือสายวิชาการ เมื่อได้เลือกเรียนสายใดแล้วเด็กก็จะได้ตั้งใจมุ่งไปสู่ความสำคัญในสายนั้น

         

น่าเสียดายที่หลักสูตรในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้
          ไม่อยากเห็นความล้มเหลวในการปฏิรูปหลักสูตรในครั้งนี้ มีอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่อยากยกมาประกอบคือ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ผู้เขียนได้ไปดูงานโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัด ผลผลิตแป้งมันได้ส่งไปขายยังต่างประเทศทั้งในยุโรปและประเทศจีน ได้ทราบว่าลูกชายได้เข้ามาช่วยดูแล
บริษัทด้วย ผมก็ได้คุยเรื่องการศึกษาของลูกชายเจ้าของบริษัทแห่งนี้ ท่านได้เล่าให้ฟังมาสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ลูกชายของท่านได้เข้าเรียนในหลายโรงเรียน เรียนแล้วก็มีปัญหา ถูกครูกล่าวหาว่าไม่รับผิดชอบ เรียนโง่ เรียนไม่ทันเพื่อน ท่านได้ส่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพ ก็เรียนไม่จบ มีข้อกล่าวหาเช่นเดิม


          จนในที่สุด ท่านได้ตัดสินใจส่งลูกไปเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ เพียงปีเดียวลูกชายของท่านก็พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง สื่อสารภาษาจีนได้ ผลการเรียนดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ท่านก็เลยสรุปว่า วิธีเรียน วิธีสอนในโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์แตกต่างจากประเทศไทย เขาสามารถสอนเด็กโง่ให้กลายเป็นเด็กที่ฉลาดได้ ปัจจุบันท่านก็ได้ลูกชายที่เรียนจบจากสิงคโปร์คนนี้มาช่วยงานบริษัทของท่าน

          นักปฏิรูปและนักศึกษาทั้งหลายไม่ลองหันกลับมาดูข้อผิดพลาดบางประการของตนเองบ้างหรือครับ ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ยืมแทคติค ดีๆ ของเขามาใช้ เผื่อจะได้ประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้


          "เด็กไทยที่ผ่านมา จะเรียนมาก ทำกิจกรรมน้อย เปรียบเสมือนเราใช้ เวลาเรียนปั่นจักรยานหรือเรียนว่ายน้ำอยู่ในห้องเรียนมากเกินไปการศึกษาไทยจึงคุณภาพลดลงโดยลำดับ"


 ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์ และเจ้าของบทความนี้   โดย...เพชร เหมือนพันธุ์ 

โพสเมื่อ : 27 ก.ค. 2556 โดย : Kruthai 


                         ความทรงจำที่งดงามในความเป็นพี่เป็นน้องของ "ชาวเกษตรปอแดง"

                          คิดถึงพี่ ๆ น้อง ๆ" วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร" ที่รักทุกคน

พี่อำนาจ (พืชศาสตร์) กับพี่ไมตรี(ประมง)  

พี่ติ๋ม(คุณครูสินีนาฎ  พลแสง) คนเก่งของ วษ.ท.ยโสธร

มิตรภาพที่งดงามเสมอ พี่เหล่+รองฯกี+พี่อำนาจ+พี่ตู่


น้องจิ๊บคนสวย กำลังย่างปลาสด ๆ จากแม่น้ำ(พี่ตู่หิวมาฝาก)


ทีมงานที่เข้มแข็งสู่มิตรภาพที่งดงาม ช่างกลเกษตร พี่เริงชัย+น้องทวิณ+น้องหนิงคนงาม+พี่ตู่+รองฯกี+น้องพงษ์ศักดิ์+พี่ไมตรี

บรรยาศในวันเลี้ยงส่ง...รองกีรดา ณ บัานพักฯ วษ.ท.ยโสธร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น